เหลี่ยมทุกดอกแล้วบอกว่าเป็นมิตรกัน จากการประชุม คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย - กัมพูชา Joint Boundary Commission (JBC) ครั้งที่ 6 จัดขึ้นในวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2568 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
โดยภายหลังประชุมช่วงบ่ายวันที่ 15 มิถุนายน 2568 ฝ่ายกัมพูชา โดยสำนักงานเลขาธิการรัฐว่าด้วยกิจการชายแดนกัมพูชา ได้แถลงข่าว มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า มีการหารือกรณีที่กัมพูชานำพื้นที่ 4 จุด คือ สามเหลี่ยมมรกต ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย เข้าสู่การพิจารณาของ International Court of Justice (ICJ) หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) รวมถึงทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงใช้แผนที่ 1 : 200,000 ร่วมกัน
ขณะที่ ฝ่ายไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศตอบโต้กลางดึกวันที่ 15 มิถุนายน 2568 ว่า ในวงประชุม ไม่มีทั้งประเด็น ศาลโลก และการตกลงใช้แผนที่ 1: 200,000 แต่อย่างใด
ในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้แสดงความผิดหวังในการที่ฝ่ายกัมพูชา ไม่ยอมร่วมมือกับไทย ในการแก้ไขปัญหา และลดความตึงเครียดระหว่างกัน
โดยความจริงจากวงประชุม JBC จะต้องมีเพียง 1 เดียวเท่านั้น!! นับจากนี้แน่นอนว่า จะมีการใช้มาตรการตอบโต้ของทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชา ที่เข้มข้นขึ้น
14 มิถุนายน 2568 ระหว่างการประชุม JBC นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงชัดเจนว่า ไทยไม่รับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ซึ่งเป็นจุดยืนที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันมาโดยตลอด
ย้อนกลับไป ปี 2502 กัมพูชายื่นคำขอศาลโลก ให้วินิจฉัยเขตแดนไทย-กัมพูชา เหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา
ปี 2505 ศาลโลกตัดสินปราสาทพระวิหาร อยู่ในเขตแดนกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 : 3 และ 7 : 5 ลงความเห็นว่า ไทยต้องคืนวัตถุโบราณต่างๆ ให้แก่กัมพูชา แต่ไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับแผนที่ระวางดงรัก อัตราส่วน 1:200,000
3 กรกฎาคม 2505 ไทยออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา แต่ในฐานะประเทศสมาชิกยูเอ็น(สหประชาชาติ) ไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณี ด้วยการคืนเฉพาะตัวปราสาท โดยคำพิพากษานี้มิได้ชี้ขาดในเรื่องแนวเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว
ปี 2540 มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC) เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจา สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา
ปี 2543 มี MOU 2543 บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก กำหนดพื้นฐานทางกฎหมายว่าการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา จะใช้เอกสารใดในการเจรจา แต่มิได้หมายความว่า อีกฝ่ายยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวผูกพันตัวเอง
ปี 2550 กัมพูชายื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว และเกิดพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า กัมพูชาอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ 1 : 200,000 ไม่ตรงกับเส้นที่กัมพูชาอ้างในคดีเดิม ตั้งแต่ปี 2505 จึงเป็นปัญหาเขตเกิดขึ้นแดนใหม่
ปี 2551-2554 เกิดเหตุปะทะหลายครั้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมกับความเคลื่อนไหวประเด็นมรดกโลก
18 มิถุนายน 2551 นายนพดล ปัทมะ ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายกัมพูชาและยูเนสโก และถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่
24 มิถุนายน 2551 ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้กระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี ยุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กระทั่ง 28 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ยุติการดำเนินการตามมติ ครม. จนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด
8 กรกฎาคม 2551 ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ปี 2554 กัมพูชายื่นคำขอให้ศาลโลก ตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลกได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 ขณะที่ฝ่ายไทยมองว่ามีการขีดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในฝั่งไทย
ครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศของไทย อธิบายเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกว่า ประเทศไทยได้ยอมรับเขตอำนาจศาลฯ ล่วงหน้า โดยหนังสือลงวันที่ 20 พ.ค. 2493 (ยอมรับอำนาจศาลเป็นเวลา 10 ปี) และ หลังคดีปราสาทพระวิหาร ไทยไม่ได้ยอมรับอำนาจของศาลโลกอีกต่อไป
18 กรกฎาคม 2554 ศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว ให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว
ปี 2556 ศาลโลกตัดสินชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ ตามคำพิพกาษา ปี 2505 ว่า กัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร แต่ศาลโลกไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ผูกพันไทย ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงศาลโลกเห็นว่าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเขาพระวิหาร ไม่รวมถึงภูมะเขือ
สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอ บทความวิเคราะห์ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หัวข้อ “คดีปราสาทพระวิหาร : เบื้องลึก เบื้องหลัง และแนวโน้มของข้อยุติ” โดยเนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุว่า คำตัดสินของศาลโลกมีสถานะเป็นคำพิพากษา ในตัวเอง มีฐานะถึงที่สุดและมีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60
ทั้งนี้ ศาลโลกไม่มีกลไกบังคับตามคำพิพากษาโดยตรง แต่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นขอให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกมาตรการมาบังคับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกได้ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94 ที่บัญญัติไว้ว่า
1.สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ รับที่จะอนุวัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นฝ่ายหนึ่ง
2.ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใด ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพัน ซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่ง อาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งถ้าเห็นจำเป็น ก็อาจทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น
เห็นได้ว่า การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมายอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่ต้องร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อให้กำหนดมาตรการ ซึ่งเป็นดุลยพินิจเด็ดขาดของคณะมนตรีความมั่นคงฯ
ทั้งนี้ เมื่อไทยแพ้คดีประสาทพระวิหารต่อศาลโลกครั้งแรก เมื่อปี 2505 ก็ประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก แต่ยอมที่จะปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94
ถามว่า ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในหลายๆ กรณี อาทิ
1.คดีสหรัฐอเมริกา vs อิหร่าน จากกรณีที่บุคลากรทางการทูตและกงสุลของสหรัฐฯ ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งอิหร่านแต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม
2.คดีนิคารากัว vs สหรัฐฯ จากกรณีที่นิคารากัวกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าสนับสนุนกบฏคอนทราสก่อการร้ายด้วยการให้วางทุ่นระเบิดรอบๆ อ่านนิคารากัว ซึ่งสหรัฐฯ ยื่นคัดค้านว่าศาลโลกไม่มีอำนาจ แต่ศาลโลกยกคำคัดค้าน สหรัฐฯ จึงถอนตัวจากคดี
คดีนี้ท้ายสุดศาลโลกพิพากษาว่าสหรัฐฯ ละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่ต้องไม่แทรกแซงและละเมิดอธิปไตยของรัฐอื่น และให้ชดใช้ค่าเสียหาย
แต่สหรัฐฯ ไม่ปฏิบัติตาม นิคารากัวจึงนำเรื่องไปสู่คณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งในการลงมติ 11 ชาติ ลงมติให้ทุกรัฐเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ 1 เสียงของสหรัฐฯ และ 1 เสียงในฐานะผู้แทนถาวรประจำคณะมนตรีความมั่นคงฯ วีโต้ ขณะที่มี 3 ชาติงดออกเสียง
ทำให้การบังคับตามคำพิพากษาของศาลโลกไม่สามารถทำได้ แม้นิคารากัวจะนำเรื่องไปสู่สมัชชาสหประชาชาติ ที่ลงมติ 94 ต่อ 3 เรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ยอม ท้ายสุด นิคารากัวต้องถอนคำร้องของตนในปี ค.ศ.1992/พ.ศ.2535
กรณีนี้คือคือการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกของชาติมหาอำนาจที่มีสิทธิ วีโต้ หรือยับยั้งเด็ดขาด ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ อีกทั้งยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับสหประชาชาติ
จากบทความของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อ่านทิศทางได้ค่อนข้างชัดเจนว่า เมื่อไทยไม่ใช่มหาอำนาจ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ แทบไม่สามารถเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกได้