svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เช่ารีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิดทะลักกลับบ้าน

นอภ.เพ็ญร่วมท้องถิ่นเช่ารีสอร์ท-บ้านพักกักตัวกลุ่มเสี่ยงทะลักกลับบ้าน โดยได้จัดสถานที่กักตัวระดับตำบล ใช้สถานที่ของ อบต. , รีสอร์ท , บ้านเช่า และหอพัก ทำให้ผู้ถูกกักตัวจะอยู่ใกล้กับญาติตัวเอง

1 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.อุดรธานียังคงเข้มงวดคัดกรอง ผู้คนที่เดินทางมาจาก 22 จังหวัดเสี่ยงสูง ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสารประจำทาง รถยนต์ และการค้นหาของ อสม. เพื่อนำมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเป็นผู้ใช้แรงงาน 2 วัน มากถึง 35 ราย นำส่งโรงพยาบาลก่อนไประบาดที่บ้าน ส่วนผู้ไม่พบเชื้อต้องกักตัว 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) ในระดับจังหวัดที่หอพักชายมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และในระดับอำเภออีก 19 แห่ง โดยที่ อ.เพ็ญ ได้จัดสถานที่กักตัวระดับตำบล โดยใช้สถานที่ของ อบต. , รีสอร์ท , บ้านเช่า และหอพัก ทำให้ผู้ถูกกักตัวจะอยู่ใกล้กับญาติตัวเอง  
เช่ารีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิดทะลักกลับบ้าน  
นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ พร้อมคณะกิ่งกาชาด อ.เพ็ญ เดินทางตรวจเยี่ยมสถานที่กักตัว ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จอมศรี นายนัฐพล บัวจันทร์ นายก อบต.จอมศรี นำเยี่ยมให้กำลังใจผู้กักตัว 9 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานแคมป์ถูกปิด พร้อมชี้แจงได้ใช้อาคารที่ทำการเดิมมาปรับปรุงแบ่งเป็นห้องแยก ห้องรวม และบ้านพัก โดยห้องนายกฯเดิมมีครอบครัวพ่อแม่ลูก 5 คน , ห้องรวม 2 คน และบ้านพักซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 สามีภรรยา ภรรยาเคยติดเชื้อกักตัวยังไม่ครบ จึงแยกออกมาไม่ปะปนกันทุกคนผ่านการตรวจเชื้อรอบแรก ทุกคนจะได้รับอาหารและนำดื่ม 3 มื้อ  
 
ด้านนายอำนวย อินทรธิราช นายก อบต.นาพู่ นำเข้าเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว พ่อแม่ลูกชาวอุดรธานี ไปเปิดขายปลาเผา ย่านอุดมสุข กรุงเทพฯ กลับมาเพราะลูกจะสร้างบ้านใหม่ พร้อมถูกกักตัวที่หอพักแห่งหนึ่งจำนวน 10 ห้อง บ้านหนองนกเขียน ริมถนนมิตรภาพ อุดร-หนองหาน อบต.ได้จัดอาหารและน้ำดื่มให้ 3 มื้อ โดยมีลูกชายนำอาหารมาให้เพิ่มเติม ขณะที่มีเพื่อนบ้านที่หวาดกลัวเข้ามาร้องขอให้ย้ายไปที่อื่น นายอำเภอฯได้ชี้แจงผู้มากักตัวไม่ใช่เป็นผู้ป่วยรับการตรวจหาเชื้อมาแล้ว แต่เพื่อนบ้านยังยืนยันว่ากลัว เช่นเดียวกันชาวบ้านในหมู่บ้าน แสดงความไม่พอใจเจ้าของหอพัก 
  เช่ารีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิดทะลักกลับบ้าน
ส่วนพื้นที่ อบต.สุมเส้า นางทวินตรา ทรงคาศรี นายก อบต.สุมเส้า นำตรวจพื้นที่กักตัว “อุ้ยเสี่ยวป้อรีสอร์ท” อบต.เช่าไว้ทั้งหมด 5 ห้อง เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ถูกกักตัว เป็นแรงงานจากสมุทรปราการ 2 คน และนักศึกษาฝึกงาน จ.ปทุมธานี 1 คน และวันนี้จะส่งมากักตัวอีก 2 คน โดยมีสถานที่กักตัวสำรองที่ อบต.สุมเส้า และยังจะหาบ้านว่างเพื่อเช่าเพิ่มเติม โดยวานนี้ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ออกมาแสดงความไม่พอใจ ได้ไปทำความเข้าใจแล้ว  
 

และในพื้นที่เทศบาลตำบลเพ็ญ นพ.วิชัย ชัยจิตวนิชกุล นายก ทต.เพ็ญ นำคณะดูสถานที่กักตัว “เดือนเพ็ญรีสอร์ท” ของ “ครูจ๋า” เป็นรีสอร์ทหรูในเขตเทศบาล บังกะโล 3 หลัง (มีครัวเล็ก) และห้องพัก 5 ห้อง พร้อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ทีวี และสัญญาอินเตอร์เน็ต (งดสระว่ายน้ำ) พร้อมเสนอเมนูอาหารเช้า 7 วันไม่ซ้ำ และเมนูอาหารกลางวัน-เย็น 22 รายการ เจ้าของรีสอร์ทขอร่วมทำบุญ และมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพชาว อ.เพ็ญ  โดยลดลดราคาให้เต็มที่ตามกำลังของท้องถิ่น จะเริ่มรับผู้กักตัว 3 มิ.ย.นี้ 
  เช่ารีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิดทะลักกลับบ้าน
นพ.วิชัย ชัยจิตวนิชกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเพ็ญ เปิดเผยว่า การกักตัวเป็นเรื่องที่ต้องทำ หากเราปล่อยให้ผู้อาจจะติดเชื้อ เข้าชุมชนจะเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น อำเภอเพ็ญทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น หากเราจัดสถานที่กักตัวในที่เดียวกัน อาจจะสะดวกในการตรวจติดตามเชื้อ การจัดการอาหาร และขยะติดเชื้อ แต่ข้อเสียคือห่างไกลจากบ้าน และญาติพี่น้อง ขณะที่เราเองไม่มีสถานที่ใหญ่ขนาดนั้น โดยแต่ละตำบลก็มีคนไปทำงานต่างถิ่นมาก เห็นด้วยกับการแยกเป็นตำบล หากใครไม่มีความพร้อม ก็สามารถใช้พื้นที่ใกล้เคียงได้  
 
“สำหรับพื้นที่กักตัวของ เทศบาลตำบลเพ็ญ ต้องขอบคุณเจ้าของกิจการ นอกจากจะให้เป็นสถานที่กักตัว ยังยินดีได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ ด้วยการลดราคาลงมา 2 รอบ จนทำให้ระเบียบทางราชการทำได้ ถือว่าเป็นการช่วยชาติบ้านเมือง ขณะที่สถานที่พักที่นี่น่าพัก ครบถ้วนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารการกินที่ก็พร้อม ทางเทศบาลตำบลเพ็ญ ก็จะมาช่วยเรื่องทำความสะอาด เก็บขยะติดเชื้อ และสาธารณสุขมาตรวจติดตามด้านสุขภาพ ผู้เข้ามารับการกักตัวน่าจะพึงพอใจ” 
  เช่ารีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิดทะลักกลับบ้าน

นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ เปิดเผยว่า ถ้าเราใช้สถานที่ของอำเภอคือ “หอประชุม” หากวันหนึ่งมีคนเดินทางมามากขึ้น สถานที่ก็จะไม่เพียงพอ จนแออัดเกิดการแพร่เชื้อได้ เกรงจะเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะสถานที่อาบน้ำ-ห้องน้ำ จึงเลือกใช้สถานที่ในตำบล โดยให้นายก อบต. และ รพ.สต.ช่วยกันหาสถานที่เหมาะสม ซึ่งที่ อ.เพ็ญ ไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่ จึงได้รีสอร์ที่ ต.นาพู่ , ต.เพ็ญ , ต.เชียงหวาง และต.สุมเส้า บางที่เราใช้เป็นบ้านพัก บ้านเช่า หอพัก หรือใช้อาคารเก่านำมาปรับปรุง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยไม่แพร่เชื้อ ซึ่งมีขั้นตอนในการพิจารณาอยู่  
 
“ หลังเริ่มมีการกักตัวจริงก็พบปัญหาเข้ามาบ้าง และได้ไปพบด้วยตัวเอง กับคำพูดของพี่น้องที่ยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมไม่ไปใช้ที่บ้านนายอำเภอ ก็เข้าใจความรู้สึก เพราะอาจจะใกล้ชุมชนไปบ้าง เราก็พยายามทำความเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจเราก็เปลี่ยนสถานที่ได้ โดยยอดผู้กักตัวที่ อ.เพ็ญ มี 30 ราย จากที่เรามีอยู่ 249 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้ เชื่อมั่นว่าหากเพิ่มมากอีกก็รับได้ เพราะเราใช้วิถีธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชน ทุกคนช่วยกันดูแล หาสถานที่เหาะสมไปเรื่อย ๆ ส่วนผู้ติดเชื้อพักรักษาตัวที่ รพ.เพ็ญ 17 ราย โดย 8 ราย เป็นกลุ่มแรงงานที่เข้ามาใหม่ เราค้นหาพบตัวก่อนไปแพร่เชื้อ ”
โดย - เศกสันติ กัลยาณวิสุทธิ์